วันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

อาหารพื้นเมือง

1.ข้าวฟืน

            ข้าวแรมฟืน หรือข้าวแรมคืน เป้นอาหารชนิดหนึ่งที่มีรสเปรี้ยว เผ็ด หวาน เป็นทั้งอาหารว่างและอาหารหลัก เป็นได้ทั้งอาหารคาวและหวาน แต่ทุกอย่างเป็นมังสะวิรัต เป็นอาหารเจ ซึ่งเป็นที่นิยมของชาวไทยใหญ่ ไทลื้อ และไทเขิน นำเข้ามาจากทางสิบสองปันนาประเทศจีน ผ่านมาทางพม่า แล้วเข้ามามาง อ.แม่สาย จ.เชียงราย เป็นเวลานานหลายสิบปีแล้ว ถือได้ว่าเป็นอาหารของชาวแม่สายไปแล้ว คำว่า "ข้าวแรมฟืน" คงเพี้ยนมาจาก ข้าวแรมคืน ซึ่งชื่อนี้ก็คงมาจากวิธีการทำนั่นเอง มีขั้นตอนดังนี้
             กรรมวิธีในการทำข้าวแรมฟืน ซึ่งก็มีส่วนประกอบหลักอยู่ 2 อย่าง คือตัวแป้งข้าวแรมฟืน และเครื่องปรุง ซึ่งอาหารชนิดนี้สังเกตดูองค์ประกอบคงจะมีลักษณะคล้าย ๆ ก๋วยเตี๋ยวของชาวจีนนั่นเอง
             ตัวข้าวแรมฟืนเติมมี 2 ชนิด คือข้าวแรมฟืนขาว และข้าวแรมฟืนถั่วลันเตา ปัจจุบันได้เพิ่มข้าวแรมฟืนถั่วดิน (ถั่วลิสง) เข้ามาด้วย ข้าวแรมฟืนขาวทำจากการโม่ข้าวเจ้าแข็งทำแป้ง แล้วนำน้ำแป้งที่ตกตะกอนมาเคี่ยวกับปูนขาวจนสุก จากนั้นเทใส่ภาชนะใดก็ได้ ทิ้งไว้ 1 คืน วันรุ่งขึ้นแป้งจะแข็งตัว ตามรูปภาชนะที่บรรจุ
             ส่วนข้าวแรมฟืนถั่วนั้นจะมีสีเหลือง ซึ่งทำจากเม็ดทั่วลันเตาแช๋จนเม็ดขยายแล้วจึงนำมาโม่ จากนั้นนำตะกอนส่วนหนึ่งมาเคี่ยวจนเดือด สังเกตดูว่าตะกอนเริ่มเหนียวจึงเทใส่ภาชนะแต่ไม่นิยมทำค้างคืนหรือแรมคืน เพราะหากทิ้งไว้นาน แป้งนี้จะเหลว ไม่จับตัวแข็งเหมือนข้าวแรมฟืนขาว เมื่อได้แป้งข้าวแรมฟืนแล้ว ก็นำมาหั่นเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมผืนผ้าเล็ก ๆ เตรียมไว้



เครื่องปรุงข้าวแรมฟืน
1.น้ำถั่วเน่า (ถั่วเหลืองหมัก) ได้จากการนำถั่วเหลืองที่โขลกละเอียดแล้วผสมน้ำต้มสุก
2.น้ำขิง ทำมาจากการโขลกขิงผสมกับน้ำต้มสุก
3.กระเทียมเจียวน้ำมัน
4.ถั่วลิสงป่น
5.เกลือป่น
6.น้ำมะเขือเทศ
7.งาขาวป่น
8.ผงชูรส
9.ซีอิ้วดำ
10.ป่าก่อ (เครื่องเทศชนิดหนึ่ง รสหวาน กลิ่นหอม)

น้ำสู่ และน้ำมะเขือเทศ
           
 น้ำสู่เป็นเหมือนกับน้ำซุปที่ใส่ลงไปในข้าวฟืนที่หั่นเตรียมไว้ น้ำสู่แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือสู่ส้ม สู่หวาน ได้จากการนำน้ำตาลก้อน (ต้องเป็นน้ำตาลที่มาจากเชียงตุง) มาหมักประมาณ 2 ปี จนได้รสเปรี้ยว สู่หวานก็ได้จากการหมักเหมือนกัน แต่หมักไม่นานเท่า

วิธีปรุง
             นำเครื่องปรุงผสมข้าวฟืนที่หั่นเตรียมไว้ ผสมน้ำสู่ส้ม หรือสู่หวาน หรือทั้งสองอย่างก็ได้ บางคนชอบกินกับน้ำมะเขือเทศ โรยหน้าด้วย ถั่วงอกลวก กุ๊ยฉ่าย ถั่วผักยาวลวก แค่นี้ก็พร้อมเสริฟแล้วครับ
             รสชาดโดยทั่วไปของข้าวฟืนจะออกรสเปรี้ยว ๆ หวาน ๆ เป็นอาหารที่ไม่ต้องอุ่นน้ำซุป หรือน้ำมะเขือส้ม น้ำสู่ที่จะราดลงไปก็จะบรรจุไว้ในขวดแก้วธรรมดา น้ำมะเขือเทศนิยมใส่ขวดโหลไว้ในปริมาณเยอะ ๆ เพื่อสะดวกในการตักราด

             ร้านขายข้าวฟืนที่แม่สายมีให้เห็นโดยทั่วไปทุกซอกทุกซอย เพราะเป็นอาหารที่ปรุงง่าย ๆ รับประทานง่าย ๆ ไม่มีพิธีรีตอง หิวเมื่อไหร่ก็เดินเข้าไปในซอย นั่งยอง ๆ ลงบนม้านั่งตัวเล็ก ๆ สักพักก็จะมีแม่ค้านำถ้วยข้าวฟืนที่หอมกลิ่นถั่วเน่ามาเสริฟให้ เราก็จัดการปรุงเครื่องปรุงตามใจชอบ ถ้าไม่ถนัดในการปรุงเพราะไม่รู้จะใส่อันไหนบ้าง ก็ให้แม่ค้าเค้าปรุงให้ก็ได้

             สำหรับร้านที่เป็นที่นิยมของชาวอ.แม่สายและนักท่องเที่ยวก็คือร้านข้าวฟืนป้านาง (ที่เดียวกับข้าวซอยป้านาง) ขายอยู่บ้านป่ายาง หน้าหมู่บ้านเพชรยนต์ แต่ก่อนขายอยู่ใต้โรงหนังเก่าแม่สาย เขาขายมานานมากแล้ว ไม่ต่ำกว่า 20 ปี นอกจากข้าวซอยน้ำเงี้ยว ข้าวฟืนแล้ว ก็ยังขายข้าวฟืนทอด คือข้าวฟืนถั่วนั่นแหละ แต่นำไปทอด จิ้มกับน้ำจิ้มสูตรพิเศษ ทานเป็นของว่างได้อร่อยมาก



2.ข้าวซอยน้อย

 ข้าวซอยน้อยเป็นอาหารประจำถิ่นของอำเภอแม่สาย ที่ไม่ค่อยมีใครรู้จักสักเท่าไหร่ เนื่องจากไม่เป็นนิยมของนักท่องเที่ยว และร้านที่ทำข้าวซอยน้อยรสชาดดี และน่ากินมีไม่กี่ร้าน ข้าวซอยน้อยเป็นอาหารของชาวไทลื้อ ที่นิยมทานกันมาหลายชั่วอายุคนแล้ว เพราะเป็นอาหารที่ทำง่าย เครื่องปรุงต่าง ๆ ก็หาได้ภายในครัวนั่นเอง แต่ปัจจุบันจะหากินไม่ค่อยได้แล้ว นอกจากที่อำเภอแม่สายที่เดียว (อาจจะมีที่จังหวัดอื่น แต่เท่าที่สอบถามมา ไม่เคยเห็น)










                                 






                     ทำไมถึงเรืยกข้าวซอยน้อย??? สอบถามจากคนเฒ่าคนแก่ก็ไม่ได้คำตอบที่แน่นอน ป้ออุ๊ย แม่อุ๊ยบอกว่า เขาก็เรียกกันมาอย่างนี้ตั้งนานนมแล้ว สันนิษฐานได้ว่าที่เรียกว่าข้าวซอยน้อยเนื่องจาก ไม่ใช่ข้าวซอยใหญ่ !!! ก็เพราะข้าวซอยใหญ่หมายถึง แผ่นก๋วยเตี๋ยวที่คนไทยภาคกลางนำมาตัดเป็นเส้นราดหน้า แต่ชนชาวไทยใหญ่ ไทลื้อ ไทเขิน นิยมนำมาหั่นเหมือนกัน แต่จะหั่นในลักษณะเส้นที่เล็กกว่ามาก (ใหญ่กว่าเส้นขนมจีนนิดหนึ่ง) นิยมนำเส้นที่ว่านี้มาทำเป็นข้าวซอยน้ำเงี้ยว หรือข้าวซอยน้ำสู่ (ซึ่งจะนำมาเสนอในโอกาสต่อไป) อีกอย่างหนี่งคือกรรมวิธีในการทำข้าวซอยน้อยนั้น เมื่อนำแป้งไปนึ่งแล้ว แผ่นก๋วยเตี๋ยวที่ได้จะมีลักษณะเล็กและบางกว่าแผ่นก๋วยเตี๋ยวที่มีขายตามท้องตลาดทั่วไป เพราะฉะนั้น อาจจะเรียกเพื่อให้แตกต่างกันเพื่อไม่ให้สับสน                                            

วิธีการทำข้าวซอยน้อย 
           เนื่องจากร้านขายข้าวซอยน้อยในอำเภอแม่สายมีไม่กี่ร้าน แต่มีร้านหนึ่งที่ได้รับความนิยมจากนักชิม และนักกินทั้งหลายว่ารสชาดสุดยอดแล้ว นั่นคือร้านข้าวซอยน้อยพี่จั๋นติ๊บ ถ้ำผาจม ซึ่งทางพี่ติ๊บ (ชาวไทลื้อ) เปิ้นบอกว่าเป็นข้าวซอยน้อยสูตรโบราณขนานแท้ เพราะสูตรการทำได้รับการถ่ายทอดมาถึง 7 ชั่วคนแล้ว ซึ่งลูกชายพี่ติ๊บก็เป็นรุ่นที่ 8 ปัจจุบันแม่ของพี่ติ๊บก็ยังมาข่วยขายในบางวัน พี่ติ๊บได้กรุณาเปิดเผยวิธีการทำว่า เริ่มจากสั่งข้าวจ้าวมาจากเชียงตุง เพื่อนำมาแช่ และโม่เพื่อให้ได้แป้งที่จะทำข้าวซอยน้อย ขั้นตอนนี้ต้องอาศัยความชำนาญถึงจะทำออกมาให้ได้น้ำแป้งที่ข้นพอเหมาะไม่ข้น หรือเหลวจนเกินไป เมื่อได้น้ำแป้งมาแล้ว ก็นำมาปรุงรสด้วยเกลือ ผงชูรส โรยด้วยต้นหอมซอย เพื่อเพิ่มรสชาดความหอม
                                                       จากนั้นนำหม้อต้มใบใหญ่ใส่น้ำครึ่งหม้อ ตั้งไฟแรง ๆ ให้เดือดปุดๆ



 เทแป้งที่ปรุงเครื่องแล้วลงในแบบพิมพ์ทรงกลม แล้วนำไปนึ่งในหม้อที่ต้มน้ำไว้ ระยะเวลาในการนึ่งก็แป๊บเดียว ไม่ถึงนาที ก็จะได้แผ่นข้าวซอยน้อยที่ทั้งนุ่มทั้งหอม                                            

เครื่องปรุง 
สำหรับเครื่องปรุงของข้าวซอยน้อยมีหลากหลายชนิดได้แก่
           1.ถั่วลิสงคั่วบดละเอียด
           2.พริกป่นคั่วน้ำนัน
           3.พริกแดงสดบดละเอียด
           4.พริกแดงสดบดละเอียดคั่วน้ำมัน
           5.น้ำตาล
           6.ผงชูรส
           7.ซีอี้วดำตราเสือ (พี่ติ๊บบอกว่า...ต้องตราเสือถึงจะอร่อย)
           8.ผักชีหั่น
           9.งาดำคั่วบดละเอียด
           10.หอมเจียว
           11.มะนาว
   

วิธีรับประทาน 
           มีวิธีทานอยู่ 2 แบบคือทานแบบจิ้มน้ำจิ้ม โดยการนำเครื่องปรุงทั้งหมดมาผสมกันให้ได้รสชาดที่พอเหมาะแล้วฉีกข้าวน้อยจิ้มเป็นคำ ๆ ไป อีกวิธีหนึ่งคือทานโดยการนำเครื่องปรุงทั้งหมดมาผสมรวมกันกับเส้นข้าวซอยน้อยที่หั่นเป็นแผ่น และมีผักกระหล่ำสดเป็นส่วนผสม โรยด้วยผักชีหั่น ทั้งสองวิธีก็จะได้รสชาดที่คล้าย ๆ กัน





อ้างอิง www.lovemaesai.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น